แนวทางและวิธีการดำเนินการ

1.4.1    ศึกษาทบทวนแบบมาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และกำหนดรูปแบบมาตรฐานใหม่

ในการศึกษาทบทวนแบบมาตรฐานเดิม ที่ปรึกษาได้ทำพิจารณารายละเอียดแบบมาตราฐานทั้งในประเทศโดยมารายละเอียดดังนี้

สำหรับหน่วยงานในประเทศไทยที่ทำงานด้านการก่อสร้างสะพานสำหรับทางหลวงแล้วประกอบด้วยหน่วยงานหลัก 2 หน่วยงานได้แก่ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ซึ่งที่ปรึกษาได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบมาตรฐานโครงสร้างสะพานของทั้ง 2 หน่วยงาน อันได้แก่

  • แบบมาตรฐานงานสะพาน พ.ศ. 2556 ของกรมทางหลวงชนบท เป็นแบบมาตรฐานสะพานทั่วไป มีทั้งแบบสะพานแผ่นพื้น แบบคานกล่องสี่เหลี่ยม และแบบคานรูปตัวไอ มีความยาวช่วงคานสูงสุด 30 เมตร ทางรถกว้าง 8.00 เมตร และ 9.00 เมตร ออกแบบด้วยมาตรฐาน AASHTO LRFD Bridge Design Specification โดยเป็นโครงสร้างคอนกรีตทั้งหมด
  • แบบมาตรฐานสำหรับการออกแบบและก่อสร้างทางหลวงฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558 ของกรมทางหลวง เป็นแบบมาตรฐานทั่วไปสำหรับงานทาง ประกอบไปด้วยแบบมาตรฐานงานทางโครงสร้างสะพานที่มีระยะความยาวช่วงเสาสูงสุดไม่เกิน 00 เมตร โดยมีรูปแบบโครงสร้างเป็นสะพานแผ่นพื้น สะพานแบบคานกล่องสี่เหลี่ยม และคานรูปตัวไอ โดยทั้งหมดเป็นโครงสร้างที่ใช้คอนกรีตเป็นวัสดุหลัก
  • แบบมาตรฐานโครงสร้างสะพานพิเศษ พ.ศ. 2558 ของกรมทางหลวง เป็นแบบมาตรฐานสะพานช่วงยาวพิเศษ โดยมีความยาวช่วงเสาตั้งแต่ 30 เมตร จนถึง 80 เมตร แบ่งเป็นรูปแบบโครงสร้างสะพานรูปกล่อง (Box girder) ทั้งแบบหล่อในที่และหล่อสำเร็จ รวมถึงสะพานรูปแบบคานยื่นสมดุล (Balanced Cantilever) ออกแบบด้วยมาตรฐาน AASHTO LRFD Bridge Design Specification ฉบับปี ค.ศ. 2007 และได้มีการปรับปรุงแรงกระทำต่างๆ เช่น แรงลมและแรงแผ่นดินไหว ให้เป็นไปตามข้อกำหนดล่าสุดที่ใช้ในประเทศไทย

นอกไปจากนั้นที่ปรึกษาจะศึกษาแบบมาตราฐานของสะพานของหน่วยงานต่างๆในต่างประเทศ อาทิเช่น ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • แบบมาตรฐานโครงสร้างสะพานเหล็ก ของบริษัท ทางด่วนแห่งประเทศญี่ปุ่น (Metropolitan Expressway Company Limited) ประกอบไปด้วยแบบมาตรฐานโครงสร้างเหล็กส่วนบน ที่มีช่วงความยาวสะพานตั้งแต่ 30 เมตร จนถึง 70 เมตร โดยมีรูปแบบคานสะพานทั้งแบบคานเหล็กรูปตัวไอ (Steel I-girder) และคานเหล็กประกอบรูปกล่อง (Steel Box Girder) ขึ้นกับความยาวช่วงสะพาน ความกว้างสะพานตั้งแต่ 8.00 เมตรจนถึง 34.00 เมตร รองรับโดยโครงสร้างส่วนล่างเป็นโครงสร้างเหล็กทั้งหมดประกอบไปรูปแบบเสาเดี่ยว (Single Pier)และโครงข้อแข็ง (Portal Frame)
  • แบบมาตรฐานสะพานเหล็กของกรมการขนส่ง (Department of Transport) สหรัฐอเมริกา
    ซึ่งถูกนำไปใช้ในทุกรัฐ เป็นแบบมาตรฐานที่ใช้สำหรับสะพานขนาดเล็กโดยมีช่วงความยาวสะพานตั้งแต่ 8 เมตร จนถึง 36 เมตร ความกว้างสะพานสะพาน 8 เมตร ประกอบไปด้วยคานเหล็กรูปพรรณ (Rolled-Steel Beam) หน้าตัดรูปตัวไอรองรับพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงสร้างส่วนล่างเป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก  โดยมีองศาการบิดของตอม่อสะพานสูงสุดที่ 30 องศา  ออกแบบด้วยมาตรฐาน AASHTO LRFD Bridge Design Specification ฉบับปี ค.ศ. 2020

1.4.2    การกำหนดรูปแบบมาตรฐาน รายการข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการออกแบบใหม่

           การกำหนดรูปแบบมาตรฐานตามลักษณะงานก่อสร้างสะพานของกรมทางหลวง รายละเอียดแบบมาตรฐานที่จะดำเนินการให้มีความสอดคล้องกับที่กรมทางหลวงจะใช้ในการออกแบบให้ครบถ้วน โดยจะประกอบด้วย แบบสะพานเหล็กสำหรับข้ามลำน้ำ และสะพานเหล็กข้ามทางแยกหรือทางรถไฟ สรุปดังนี้

  • ความยาวช่วงสะพาน 10 15 20 25 30 40 และ 60 เมตร โดยแบ่งช่วงความกว้างของสะพานเป็น 2 ช่วง คือระหว่าง 9.00 – 11.50 เมตร และ 12.00-15.00 เมตร
  • ความสูงของสะพานจะถูกแบ่งเป็น 3 ช่วงตามช่วงความยาวสะพาน ดังนี้
  • ช่วงความยาวสะพานไม่เกิน 15.00 เมตรจะมีความสูงสูงสุดไม่เกิน 8.00 เมตร
  • ช่วงความยาวสะพานระหว่าง 20.00 – 25.00 เมตรจะมีความสูงระหว่าง 8.00 – 15.00 เมตร
  • ช่วงความยาวสะพานระหว่าง 30.00 – 60.00 เมตรจะมีความสูงสูงสุด ไม่เกิน 20.00 เมตร
  • โครงสร้างส่วนบน เป็นโครงสร้างคานเหล็กช่วงเดี่ยว (Simple span) รองรับพื้นทางคอนกรีตเสริมเหล็ก สำหรับช่วงความยาวสะพานไม่เกิน 40.00 เมตร และโครงสร้างคานเหล็กต่อเนื่อง (Continuous span) สำหรับช่วงความยาวสะพาน 60.00 เมตร โดยทำการออกแบบเป็น Composite ทั้งหมด
  • รูปแบบคานหลัก (Main girder) จะถูกกำหนดให้ประเภทรวมถึงขนาดความลึกที่เปลี่ยนแปลงไปตามความยาวช่วงสะพาน ดังนี้
  • ช่วงความยาวไม่เกิน 15.00 เมตรกำหนดให้เป็น คานเหล็กดัดขึ้นรูปทรงตัวยู (Steel Press Brake Tub Girder) แสดงดังรูปที่ 4-1
  • ช่วงความยาวระหว่าง 20.00 – 30.00 เมตร กำหนดให้เป็นคานเหล็กประกอบรูปทรงตัวไอ (Steel Plate I-girder) แสดงดังรูปที่ 4-2
  • ช่วงความยาวระหว่าง 40.00 – 60.00 เมตร กำหนดให้เป็นคานเหล็กประกอบรูปทรงกล่อง (Steel Box Girder) แสดงดังรูปที่ 4-3
  • พื้นสะพานเป็นลักษณพต่อเนื่องกันด้วย Link slab สำหรับกรณีที่เป็นสะพานหลายช่วง (Multiple spans) ยกเว้นช่วงความยาว 60.00 เมตร
รูปที่ 1.4-1 ตัวอย่างรูปแบบโครงสร้างส่วนบนคานเหล็กดัดขึ้นรูปทรงตัวยู (Steel Press Brake Tub Girder)
รูปที่ 1.4-2 ตัวอย่างรูปแบบโครงสร้างส่วนบนคานเหล็กประกอบรูปทรงตัวไอ (Steel Plate Girder)
รูปที่ 1.4-3 ตัวอย่างรูปแบบโครงสร้างส่วนบนคานเหล็กประกอบรูปทรงกล่อง (Steel Box Girder)
  • โครงสร้างส่วนล่างให้เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือโครงสร้างเหล็ก (เฉพาะช่วงความยาวสะพานระหว่าง 15.00 – 40.00 เมตร สำหรับสะพานข้ามแยกหรือทางรถไฟเท่านั้น) โดยมีรูปแบบโครงสร้างส่วนล่างเป็นแบบเสาเดี่ยวทั้งหมด แสดงดังรูปที่ 4-4

 

รูปที่ 1.4-4 ตัวอย่างรูปแบบโครงสร้างส่วนล่าง เสาเหล็กเดี่ยว (Steel Pier)
  • ระบบฐานราก เป็นระบบเสาเข็มตอก หรือเสาเข็มตอก หรือฐานรากแผ่สำหรับช่วงความยาว
    ไม่เกิน 15.00 เมตร และระบบเสาเข็มตอกหรือเสาเข็มเจาะสำหรับช่วงความยาว 20.00-25.00 เมตร สำหรับช่วงความยาวสะพานตั้งแต่ 30.00 เมตรขึ้นไปจะใช้ระบบฐานรากเป็นแบบเสาเข็มเจาะทั้งหมด
  • องศาการบิดของตอม่อสะพาน (Skewed angle) จะมีค่าอยู่ระหว่าง 15 องศา ถึง ไม่เกิน 45 องศา

1.4.3    การจัดทำรายการข้อกำหนดในการออกแบบรายละเอียดงานโครงสร้าง

           หลังจากขั้นตอนทำการศึกษาทบทวนแบบมาตรฐาน หลักเกณฑ์ในการออกแบบ และเปรียบเทียบหน่วยแรงดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะดำเนินการจัดทำรายการข้อกำหนดในการออกแบบงานโครงสร้าง
(Design Criteria) ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบ (Design criteria) มีส่วนประกอบเบื้องต้นดังนี้

1) น้ำหนักบรรทุกและแรงกระทำ

2) สภาวะขีดจำกัด (Limit state) ต่างๆ

3) กำลังและคุณสมบัติของวัสดุ

4) คุณสมบัติของสีกันสนิม (Corrosion protection by paintings)

           สำหรับการกำหนดคุณสมบัติของวัสดุและความคงทนของวัสดุนั้น จะต้องทำการศึกษาข้อกำหนดการใช้วัสดุและกำลังวัสดุตามมาตรฐานของกรมทางหลวงเพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างของกรมทางหลวงที่เคยได้ดำเนินการมา พร้อมทั้งคุณสมบัติด้านความคงทนของวัสดุที่เหมาะสมตามสภาวะแวดล้อม และการใช้งานในแต่ละประเภทของงานสะพาน

           การออกแบบโครงสร้างสะพานนั้นนอกจากจะออกแบบให้ตัวโครงสร้างคงทนและรับน้ำหนักได้
โดยปลอดภัยแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการตรวจสอบและบำรุงรักษาควบคู่กันไป ดังนั้นในการออกแบบรายละเอียดชิ้นส่วนของโครงสร้างจะต้องคำนึงถึงอาทิ เช่น การเปลี่ยนฐานรองรับสะพาน (Bearing) หรือการเปลี่ยนรอยต่อสะพาน เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีอายุการใช้งานจึงอาจต้องมีการเปลี่ยนได้ในอนาคต การออกแบบลักษณะของสะพานจะต้องเอื้ออำนวยต่อการซ่อมแซมในอนาคตด้วย

1.4.4    การวิเคราะห์หาหน่วยแรงเนื่องจากน้ำหนักบรรทุก

           การออกแบบโครงสร้างสะพานจะใช้มาตรฐาน AASHTO LRFD Bridge Design Specification
เป็นมาตรฐานหลัก โดยใช้น้ำหนักบรรทุกจร HL-93 ซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์เชิงสถิติจากรถบรรทุกในประเทศสหรัฐอเมริกา ในเบื้องต้นจึงถือได้ว่ามีความเหมาะสมและน่าจะสามารถใช้ได้กับรถบรรทุกในประเทศไทย
             แต่อย่างไรก็ตาม ในโครงการนี้จะมีการวิเคราะห์หาหน่วยแรงจากน้ำหนักบรรทุกโดยใช้รถบรรทุกในประเทศไทย เพื่อเปรียบเทียบกับน้ำหนักบรรทุกตามมาตรฐาน AASHTO LRFD ด้วย โดยศึกษาน้ำหนักรถบรรทุกตามประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงและรถบรรทุกที่ใช้ในการออกแบบที่กระทำบนโครงสร้างต่างๆ โดยจะวิเคราะห์หาหน่วยแรงที่เกิดขึ้น พร้อมเปรียบเทียบหน่วยแรงเนื่องจากรถบรรทุกทั้งหมด
รวมทั้งหาความสัมพันธ์เพื่อให้ได้ข้อกำหนดน้ำหนักบรรทุกที่เหมาะสมที่ใช้ในการออกแบบโครงสร้างต่อไป  สำหรับน้ำหนักบรรทุกจรที่ใช้ในการตรวจสอบความปลอดภัยในการรับน้ำหนักบรรทุกของโครสร้างสะพาน
มีรายละเอียดดังนี้

  • น้ำหนักบรรทุกจรตามมาตรฐาน AASHTO: HL-93 ประกอบด้วยน้ำหนักบรรทุกออกแบบ 2 ชนิด ได้แก่

    – น้ำหนักรถบรรทุกมาตรฐาน HS20-44 (Truck Load) รวมกับน้ำหนักทางรถ (Lane Loading)

    – น้ำหนักบรรทุกแบบระยะล้อสั้น (Tandem Load) รวมกับน้ำหนักทางรถ (Lane Loading)

 

 

  • น้ำหนักบรรทุกจรตามที่กรมทางหลวงกำหนด ซึ่งใช้พิกัดน้ำหนักสูงสุดและน้ำหนักลงเพลาตามที่กรมทางหลวงกำหนด (เล่ม 122 ตอนพิเศษ 150 ง ราชกิจจานุเบกษา 28 ธันวาคม 2548, หมวด 2)
    สำหรับน้ำหนักรถบรรทุกที่ใช้ในแบบจำลองโครงสร้าง กำหนดให้มีน้ำหนักรถบรรทุกวิ่งเป็นขบวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อคำนวณหาแรงสูงสุดที่มีโอกาสเกิดขึ้นในชิ้นส่วนโครงสร้าง

1.4.5    การจัดทำรายการแบบมาตรฐาน (List of Standard Drawings) และแบบมาตรฐาน   (Standard Drawings)

           การจัดทำรายการแบบมาตรฐาน (List of Standard Drawings) และแบบมาตรฐาน (Standard Drawings) เพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบสะพานที่ทำการออกแบบทั้งหมด โดยแบบจะมีความละเอียดเพียงพอเพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาต่อเป็นแบบเพื่อการก่อสร้าง (Shop drawings)

1.5       การออกแบบรายละเอียดจัดทำแบบมาตรฐานและเกณฑ์ข้อกำหนด

1.5.1    แบบมาตรฐานงานโครงสร้าง

           แบบมาตรฐานงานโครงสร้างที่จะจัดทำสามารถแบ่งออกเป็น 2 หมวดหลัก คือ แบบมาตรฐานงานโครงสร้างสำหรับสะพานข้ามลำน้ำและแบบมาตรฐานงานโครงสร้างสำหรับสะพานข้ามทางแยกหรือทางรถไฟ

  • แบบมาตรฐานงานโครงสร้างสำหรับสะพานข้ามลำน้ำ องค์ประกอบของสะพาน อย่างน้อยจะประกอบด้วย
    • โครงสร้างส่วนบน (Superstructure) เป็นสะพานทางตรงและโค้งในระนาบราบโดยค่าความโค้งเป็นไปตามข้อกำหนดของ AASHTO LRFD Bridge Design Specification ออกแบบให้รองรับ 2-4 ช่องจราจร โดยมีความกว้างของสะพาน 00-15.00 เมตร พร้อมรอยต่อตามยาว ในกรณีที่สะพานกว้างกว่า 15.00 เมตร ความยาวช่วงสะพาน 10.00-60.00 เมตร
    • โครงสร้างส่วนล่าง (Substructure) ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก 2 ส่วนคือ เสา (Pier) และ ฐานราก (Footing) โดยจะออกแบบให้รองรับระดับแรงแผ่นดินไหว 2 ระดับ และรองรับมุมบิดระหว่างเสาและฐานราก (Skew) ได้ 0° – 45°
  • แบบมาตรฐานงานโครงสร้างสำหรับสะพานทางแยกหรือทางรถไฟ องค์ประกอบของสะพาน อย่างน้อยจะประกอบด้วย
    • โครงสร้างส่วนบน (Superstructure) เป็นสะพานทางตรงและโค้งในระนาบราบโดยค่าความโค้งเป็นไปตามข้อกำหนดของ AASHTO LRFD Bridge Design Specification ออกแบบให้รองรับ 2-4 ช่องจราจร โดยมีความกว้างของสะพาน 00-15.00 เมตร พร้อมรอยต่อตามยาว ในกรณีที่สะพานกว้างกว่า 15.00 เมตร ความยาวช่วงสะพาน 15.00-60.00 เมตร
    • โครงสร้างส่วนล่าง (Substructure) ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก 2 ส่วนคือ เสา (Pier) และ ฐานราก (Footing) โดยจะออกแบบให้รองรับระดับแรงแผ่นดินไหว 2 ระดับ และรองรับมุมบิดระหว่างเสาและฐานราก (Skew) ได้ 0° – 45° โดยฐานรากเสาเข็มจะรองรับเสาเข็มแบบตอกและเสาเข็มแบบเจาะ และสามารถสรุปออกมาในรูปแบบตารางดังแสดงไว้ในตารางที่ 5-1 และ 1.5-2

1.5.2    แบบมาตรฐานและเกณฑ์ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับออกแบบด้านสถาปัตยกรรม

1.5.2.1 แนวทางและวิธีการดำเนินงานออกแบบ

ในการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม มีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

  • ศึกษารูปแบบสะพานเหล็กตามขอบเขตงานเพื่อประเมินขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม ได้แก่ รูปแบบของสะพานที่จำเป็นต้องมีข้อพิจารณาด้านสถาปัตยกรรม เช่น รูปแบบโครงสร้างส่วนตัวสะพาน และโครงสร้างของเสารับสะพาน เป็นต้น รูปแบบทางเท้า ทางลาด (ถ้ามี) รูปแบบราวกันตก หรือราวกั้นสำหรับทางเท้า (ถ้ามี) รูปแบบป้ายสะพานเพื่อแสดงในด้านต่างๆ ตามความเหมาะสม หรือป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการใช้งาน และรูปแบบไฟแสงสว่าง หรือไฟประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม
  • พิจารณาด้านข้อกำหนด เกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบสะพาน
  • ศึกษาเทคนิควิธีการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นไปได้ เพื่อนำไปประกอบการเลือกรูปแบบขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของสะพานที่เหมาะสม
  • สรุปและจำแนกรูปแบบที่มีความเป็นไปได้ มีความน่าสนใจ และมีความเหมาะสม สอดคล้องกับหลักวิศวกรรม รวมถึงงบประมาณก่อสร้าง พร้อมกับสรุปแนวคิดหลักเพื่อกำหนดแนวทางการออกแบบในภาพรวม
  • ทบทวนข้อกำหนด มาตรฐานและข้อพิจารณาต่างๆ ในเชิงละเอียด โดยพิจารณาร่วมกับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ได้จำแนกไว้ในชั้นแรก
  • กำหนดแนวคิดสนับสนุนในเชิงสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมกับแบบสะพานมาตรฐานในแต่ละรูปแบบ โดยศึกษาบริบทและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นประกอบเพื่อจัดให้มีเอกลักษณ์ในการออกแบบแตกต่างกันไปตามพื้นที่ หรืออาจจัดทำรูปแบบกลางที่สามารถนำไปได้กับทุกพื้นที่ ซึ่งจะพิจารณาในขั้นตอนการออกแบบต่อไป
  • เมื่อสรุป จำนวนรูปแบบโครงสร้างสะพานเบื้องต้นได้แล้ว จะดำเนินการออกแบบขั้นแนวคิด และทำการพัฒนาแบบนำเสนอต่อกรมทางหลวง โดยดำเนินการตามลำดับขั้นตอนจนกระทั่งสิ้นสุดการจัดทำแบบมาตรฐานสะพานเหล็กฉบับสมบูรณ์ โดยวิธีการดำเนินงานออกแบบสถาปัตยกรรมเบื้องต้น แสดงดัง
    รูปที่ 1.5-5

1.5.3    แบบมาตรฐานและเกณฑ์ข้อกำหนดประกอบงานสะพาน

           แบบมาตรฐานและเกณฑ์ข้อกำหนดประกอบงานสะพานจะประกอบไปด้วย

  • แบบมาตรฐานและเกณฑ์ข้อกำหนดประกอบทั่วไปสำหรับงานสะพาน เช่น แผ่นยางรองคาน (Bearing Pad และ Pot Bearing) ราวสะพานคอนกรีตและเหล็กซึ่งรวมถึงรูปแบบการติดตั้งเสาไฟฟ้าและ
    ป้ายต่างๆ รอยต่อเพื่อการยืดหดตัวบนสะพาน (Expansion Joint) ระบบระบายน้ำบนสะพานและใต้สะพาน
    เป็นต้น
  • ข้อกำหนดต่างๆเกี่ยวกับงานโครงสร้างเหล็ก เช่น คุณสมบัติของเหล็กและตัวยึด วิธีการป้องกันสนิม เป็นต้น
  • ข้อเสนอแนะสำหรับการตรวจสอบโครงสร้าง เช่น การตรวจสอบคุณภาพรอยเชื่อมและตัวยึด การตรวจสอบคุณภาพของ Coating กันสนิม เป็นต้น 

1.6       การจัดทำบัญชีปริมาณวัสดุและเอกสารคู่มือประกอบแบบมาตรฐาน

           ในการจัดทำเอกสารและรายงานต่างๆ จะดำเนินการจัดทำโดยเน้นใส่รูปประกอบพร้อมคำอธิบายอย่างละเอียดอย่างชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ รวมทั้งใส่รายละเอียดของเนื้อหาที่มีความถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเอกสารและคู่มือที่จะดำเนินการในครั้งนี้ประกอบด้วย

1) คู่มือการใช้แบบมาตรฐานงานโครงสร้าง โดยจะต้องดำเนินการในรูปแบบที่ชัดเจน สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน

2) เอกสารรายการข้อกำหนดต่างๆ คุณสมบัติของวัสดุ เพื่อใช้ประกอบแบบก่อสร้าง

3) เอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องในการคำนวณออกแบบสะพานและแบบมาตรฐานประกอบต่างๆ ที่ได้ดำเนินการในโครงการ

4) หลักเกณฑ์ในการคำนวณปริมาณวัสดุ โดยจะต้องดำเนินการในรูปแบบที่ชัดเจน สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน

5) บัญชีปริมาณวัสดุ ตามแบบรายละเอียดแบบมาตรฐานแต่ละประเภท โดยแยกเป็นหมวดหมู่สามารถนำบางส่วนไปประกอบในการคำนวณปริมาณวัสดุเมื่อมีการนำแบบมาตรฐานไปใช้งานออกแบบได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องดำเนินการคำนวณใหม่

6) คู่มือการใช้โปรแกรม BIM เพื่อใช้ช่วยในการคำนวณปริมาณงาน

1.7       การจัดทำแบบจำลอง (MODEL) ด้วยโปรแกรม BIM (BUILDING INFORMATION MODELLING)

           การดำเนินการจัดทำแบบจำลองโครงสร้างสะพานด้วยโปรแกรม BIM (Building Information Modeling) การสร้างแบบจำลองดิจิตอลของสะพานด้วยโปรแกรม BIM ในครั้งนี้ ดำเนินจัดทำแบบจำลอง (MODEL) ด้วยระบบ BIM (BUILDING INFORMATION MODELLING) ตามรูปแบบสะพาน จำนวน 1 รูปแบบ โดยในแบบจำลองจะประกอบด้วย รูปทรงเรขาคณิต และข้อมูลการออกแบบที่จำเป็นในการรองรับกิจกรรมการก่อสร้าง สามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของแบบโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ ของสะพาน รวมทั้งช่วยในการคำนวณปริมาณวัสดุ (BOQ) ที่ถูกต้องและรวดเร็ว

1.8       ระยะเวลาการศึกษา

           โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบงานออกแบบมาตรฐานสะพานเหล็กสำหรับทางหลวงงาน กำหนดระยะเวลาดำเนินงานของงานแต่ละส่วนอย่างชัดเจน ซึ่งวันเริ่มต้นของสัญญา คือ
เดือนธันวาคม 2565 และสิ้นสุดสัญญาในเดือนมิถุนายน 2567 รวมระยะเวลาปฏิบัติงานทั้งหมด 540 วั

1.9       การจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดรูปแบบมาตรฐานใหม่

           การรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดรูปแบบมาตรฐานใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของหน่วยงานในสังกัดกรมทางหลวง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการดำเนินจะเปิดโอกาสให้หน่วยงานในสังกัดกรมทางหลวง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ ตลอดจนปัญหาและข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้นในการกำหนดรูปแบบมาตรฐานใหม่ เพื่อนำผลที่ได้ไปปรับปรุง พัฒนางานทางหลวงให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น มีความทันสมัยนำเทคโนโลยี และวิทยาการด้านการออกแบบ รวมถึงวัสดุวิศวกรรมที่มีในปัจจุบันมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพประกอบด้วย แผนงานหลัก ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ และการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ดังแสดงในตารางที่ 1.9-1 ดังนี้

1.9.1    การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลของโครงการ

            ในการดำเนินงานด้านประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลของโครงการตลอดระยะเวลาการศึกษาของโครงการ โดยมีกิจกรรมย่อยๆ ที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ได้แก่ การจัดทำเอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็น และบอร์ดนิทรรศการ รวมทั้งการเปิด Facebook
แบบมาตรฐานสะพานเหล็ก website ของโครงการ www.แบบมาตรฐานสะพานเหล็ก.com และ Line Official : แบบมาตรฐานสะพานเหล็ก

1.9.2    การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น

            กิจกรรมการดำเนินงานที่สำคัญประกอบด้วย การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในลักษณะของการประชุม 3 ครั้ง คือ 1) การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ)  2) การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ความก้าวหน้าโครงการ) และ 3) การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) รวมทั้งการดำเนินการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโครงการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในวาระต่างๆ สรุปดังนี้

1) การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) เพื่อให้ข้อมูล เหตุผล ความจำเป็น วัตถุประสงค์ของโครงการ ขอบเขตงาน แนวทางและขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดจัดทำแบบมาตรฐานและเกณฑ์ข้อกำหนด และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการกำหนดแนวทางและขั้นตอนการศึกษาเบื้องต้น โดยดำเนินการวันพุธที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐-๑๖.๐๐ น. ณ ห้องเรนโบว์ ฮอลล์ ชั้น ๑๗ โรงแรมใบหยกสกาย กรุงเทพมหานคร ควบคู่กับการประชุมทางออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom Cloud Meetings

2) การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ความก้าวหน้าโครงการ) เป็นการชี้แจงความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของโครงการฯ ที่ได้ดำเนินการ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างการออกแบบรายละเอียดจัดทำแบบมาตรฐานและเกณฑ์ข้อกำหนด

3) การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) เพื่อนำเสนอสรุปผล
การออกแบบรายละเอียดจัดทำแบบมาตรฐานและเกณฑ์ข้อกำหนด และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำปรับปรุงให้มีความที่เหมาะสม

Scroll to Top