ความเป็นมาและเหตุผลความจำเป็นของโครงการ

           กรมทางหลวงได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่งทางบก
ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การออกแบบทางหลวงและโครงสร้างสะพานให้มีความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานสากลเป็นพันธกิจหลักของกรมทางหลวง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำเป็นรูปแบบมาตรฐานเพื่อให้สำนักสำรวจและออกแบบและหน่วยงานอื่นๆ ของ
กรมทางหลวงสามารถนำไปใช้ประกอบการออกแบบ ตลอดจนให้เกิดความสะดวกในการตรวจสอบรูปแบบ
การประมาณราคา การควบคุมงานก่อสร้าง รวมทั้งมีความสวยงามและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหน่วยงาน
ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้จัดทำแบบมาตรฐานงานทางและงานโครงสร้างไว้ใช้ในภารกิจต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานอื่นๆนำไปใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลาย

           ในปัจจุบัน โครงข่ายคมนาคม ทางหลวง มีการพัฒนาและขยายตัวเป็นอย่างสูง รวมทั้งการเจริญเติบโตและการขยายเมืองและชุมชน ซึ่งเป็นผลให้ รูปแบบของการก่อสร้างทางหลวงและงานสะพาน
ในเขตเมืองหรือพื้นที่ที่มีชุมชนและปริมาณจราจรสูง มีความจำเป็นต้องใช้รูปแบบและเทคนิคการก่อสร้าง
ที่รวดเร็ว สามารถลดผลกระทบต่อประชาชน การจราจร รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แบบมาตรฐานของกรมทางหลวง ที่มีในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่จะเน้นรูปแบบของทางหลวงและสะพาน
ที่ตอบโจทย์การใช้งานที่เหมาะสมกับพื้นที่ในภาพรวม ใช้เทคนิคการก่อสร้างพื้นฐาน โดยอาจยังไม่พิจารณารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างในเขตเมืองหรือพื้นที่ที่มีชุมชนและปริมาณการจราจรสูงที่ต้อง
ลดระยะเวลาการก่อสร้างและลดระยะเวลาการติดตั้งลงอย่างมาก รวมทั้งในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อ่อนไหว ตลอดจนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างและวัสดุวิศวกรรมต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป

           ดังนั้นกรมทางหลวงจึงมีแนวความคิดในการปรับปรุงและจัดทำแบบมาตรฐานในการก่อสร้างใหม่ๆ เพื่อพัฒนางานทางหลวงให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น มีความทันสมัยนำเทคโนโลยีและวิทยาการทางด้านการออกแบบรวมถึงวัสดุวิศวกรรมที่มีในปัจจุบันมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์ของโครงการ

           เพื่อดำเนินการสำรวจและออกแบบงานออกแบบมาตรฐานสะพานเหล็กสำหรับทางหลวงพร้อมจัดทำบัญชีปริมาณวัสดุและเอกสารคู่มือประกอบแบบมาตรฐานเพื่อใช้ประกอบในงานออกแบบประมาณราคาและก่อสร้างทางของกรมทางหลวง

ขอบเขตการดำเนินงาน

ศึกษาทบทวนแบบมาตรฐานเดิมของกรมทางหลวง และจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ทำการประมวลผลข้อมูลพื้นฐาน รวมถึงจัดให้มีการศึกษาดูงานเพื่อนำเสนอหลักการและ
สรุปเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการปรับปรุงและจัดทำแบบมาตรฐาน โดยสรุปดังนี้

1) ศึกษาทบทวนแบบมาตรฐานเดิม ขอบเขตของงานและหลักเกณฑ์ในการออกแบบเดิม กรณีศึกษาต่างๆ จากหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงวิเคราะห์และสรุปปัญหาที่เกิดขึ้น

2) กำหนดแบบมาตรฐาน รายการข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการออกแบบใหม่

3) ออกแบบรายละเอียดและจัดทำแบบมาตรฐานใหม่พร้อมรายการข้อกำหนด

4) จัดทำบัญชีปริมาณวัสดุตามแบบมาตรฐานและเอกสารคู่มือประกอบแบบมาตรฐาน

5) จัดทำรายการคำนวณแบบมาตรฐานใหม่

6) จัดทำแบบจำลอง (MODEL) ด้วยโปรแกรม ระบบ BIM(BUILDING INFORMATION MODELLING)

7) จัดฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี

Scroll to Top